30 เมษายน 2540

บริษัท ที.เอช.นิค จำกัด คอลัมน์ คุณภาพสังคม โดย คุณชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี (Thai version only)



ย้อนหลังกลับไปเมื่อประมาณ 10 ปีที่แล้ว ในขณะที่การใช้ประโยชน์ทางด้านการศึกษาวิจัยจากเครือข่าย "อาร์ปาเนต" ของสหรัฐอเมริกากำลังได้รับความนิยมอย่างกว้างขวางในหมู่นักวิชาการตาม มหาวิทยาลัยต่างๆ ทั้งในสหรัฐอเมริกาและประเทศที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกัน

นักวิชาการกลุ่มหนึ่งในสถาบัน เทคโนโลยีแห่งเอเชีย หรือ เอไอที ได้เริ่มเข้าไปมีส่วนร่วมในเครือข่ายอาร์ปาเนต ด้วยการขอใช้เมล์บ็อก (mailbox) ในต่างประเทศ เวลาจะเข้าไปเอาจดหมายหรือข้อมูลในเมล์บ็อกดังกล่าว ต้องต่อโทรศัพท์ทางไกลระหว่างประเทศ โดยบริการไทยแพ็กของการสื่อสารแห่งประเทศไทย

จนกระทั่งต่อมาในปี 2530 สถาบันเอไอที มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และได้ รับความช่วยเหลือจากรัฐบาลออสเตรเลียในการจัดตั้งเครื่องคอมพิวเตอร์แม่ข่าย ของประเทศไทยในการใช้ ติดต่อกับต่างประเทศ โดยไม่จำเป็นต้องไปใช้พื้นที่ในเครื่องแม่ข่ายในต่างประเทศอีกต่อไป แต่ยังต้องใช้วิธี ต่อโทรศัพท์ทางไกล เพื่อไปแลกเปลี่ยนข้อมูลกับเครื่องแม่ข่ายในสหรัฐอเมริกา ยุโรป และออสเตรเลียเป็นประจำ

กลางปี 2531 สถาบันเอไอทีเริ่มเป็นผู้จดทะเบียนโดเมนเนม (domain name) ".th" ขึ้นเป็นครั้งแรกใน ประเทศไทยและรับหน้าที่ในการดูแลการจดทะเบียนโดเมนเนมสัญชาติไทยตลอดมา จนกระทั่งปัจจุบัน ภายใต้ ชื่อหน่วยงานว่า "ไทยนิก" หรือทีเอชนิก (THNIC)

"รศ.ดร.กาญจนา กาญจนสุต" อาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ สถาบันเอไอที ในฐานะผู้บริหารโดเมนเนมในประเทศไทยของ "ไทยนิก" เล่าว่า หลังจากที่เอไอทีมีเครื่องแม่ข่ายเพื่อเชื่อมโยงกับต่างประเทศของตัวเอง ก็มีสถาบันการศึกษาหลายแห่ง มาขอใช้ด้วย

"ในที่สุดในช่วงปลายปี 2534 สถาบันเอไอทีได้จัดการสัมมนาเชิงปฏิบัติการด้านอินเตอร์เนตขึ้นเป็นครั้งแรก ในประเทศไทย มีนักวิชาการทางด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์จากสถาบันการศึกษาต่างๆ มาร่วมประมาณ 40 คน ได้พูดคุยกันถึงการพัฒนาเครือข่ายอินเตอร์เนตขึ้นในประเทศไทย โดยต่างฝ่ายต่างให้คำมั่นสัญญาว่าจะช่วย เหลือกันอย่างเต็มที่"

หลังจากนั้น ในเดือนสิงหาคม 2535 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้เชื่อมต่อกับเครื่องแม่ข่ายในต่างประเทศ ด้วยการต่อสายแบบถาวร (leased line) เพื่อให้สามารถติดต่อกับต่างประเทศได้ตลอด 24 ชั่วโมง นับเป็นการก้าวสู่โลกอินเตอร์เนตครั้งแรกในประเทศไทย

"เมื่อได้จุฬาฯ เป็นเกตเวย์ (gateway) เชื่อมต่อออกไปต่างประเทศ จึงได้ย้ายเครื่องแม่ข่ายสำหรับ โดเมนเนมในประเทศไทยไปไว้ที่จุฬาฯด้วย เพื่อให้การติดต่อกับต่างประเทศสะดวกขึ้น และการรับจดทะเบียน โดเมนเนมก็เป็นความร่วมมือระหว่างจุฬาฯและเอไอทีตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา"

สำหรับหลักเกณฑ์ที่"ไทยนิก"ถือเป็น นโยบายหลักในการรับจดทะเบียนโดเมนเนม หรือที่อยู่บนอินเตอร์เนต ให้แก่องค์กรต่างๆ ในประเทศไทยคือ กำหนดให้หน่วยงานจดทะเบียนได้เพียงชื่อเดียว โดยใช้ชื่อที่ใกล้เคียง กับชื่อขององค์กร เพื่อป้องกันปัญหาการจองชื่อ เพื่อเก็บไว้ขายต่อให้แก่องค์กรที่มีชื่อตรงกับโดเมนเนม ตรงกับชื่อที่จองไว้ ทั้งนี้ผู้ขอจดทะเบียนจะไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆทั้งสิ้น

ส่วนขั้นตอนในการจดทะเบียนโดเมนเนม สำหรับองค์กรที่จดทะเบียนในประเทศไทยนั้น ขั้นแรกจะต้องเข้าไป ที่เว็บไซต์ของไทยนิกที่ www.thnic.net แล้วเข้าไปที่ส่วน whois เพื่อตรวจสอบดูว่ามีใครจดทะเบียน ชื่อที่เราต้องการจดไว้ก่อนหรือไม่ จากนั้นจึงกรอกแบบฟอร์มในเว็บไซต์เดียวกัน แล้วจึงอีเมล์ไปที่ domreg@thnic.net หากแบบฟอร์มและข้อมูลทุกอย่างถูกต้อง การจดทะเบียนก็จะเรียบร้อยภายในระยะเวลา 1-3 วัน

ถ้าใครมีปัญหาในเรื่องการจดทะเบียน โดเมนเนม สามารถติดต่อไปที่ คุณเพ็ญศรี อรุณวัฒนามงคล ภาควิชา วิทยาการคอมพิวเตอร์ สถาบันเอไอที โทร. 524-5716 หรือ อีเมล์ไปที่ pensri@rs.thnic.net ปัจจุบันมี หน่วยงานต่างๆในประเทศไทยจดทะเบียนโดเมนเนมกับไทยนิกไว้แล้วถึง 472 องค์กร เป็นพวกองค์กรการค้า ที่ใช้อักษรตัวท้ายว่า "co.th" มากที่สุดถึง 302 บริษัท ตามด้วยสถาบันการศึกษา (ac.th) มี 67 องค์กร หน่วยงานที่ไม่แสวงหากำไร (or.th) 52 องค์กร หน่วยราชการ (go.th) 38 องค์กร และผู้ให้บริการอินเตอร์เนต (net.th) อีก 13 บริษัท

อย่างไรก็ตาม ในสภาพความเป็นจริงของการจดทะเบียนโดเมนเนมในประเทศไทยนั้น บริษัทผู้ให้บริการ อินเตอร์เนตหรือไอเอสพี มักจะเป็นผู้ดำเนินการจดทะเบียนให้กับลูกค้าที่มาใช้บริการเชื่อมต่อ และจัดทำเว็บไซต์ โดยจัดเก็บค่าบริการตั้งแต่ 1,500 - 5,000 บาท ทั้งๆ ที่ไทยนิกไม่ได้รับประโยชน์ในส่วนนี้เลย

อาจารย์กาญจนา บอกว่าไทยนิกคงจะทำงานในรูปอาสาสมัครอย่างนี้ต่อไปไม่ไหวแล้ว เพราะอินเตอร์เนตมี การขยายตัวขึ้นทุกวัน ในช่วงภายในสองปีนี้ อาจจะต้องเปลี่ยนสถานะภาพเป็นนิติบุคคลที่ไม่แสวงหากำไร มีความเป็นกลาง ไม่เข้าข้างไอเอสพีใดๆ ไม่เป็นแบบหน่วยราชการที่มีขั้นตอนล่าช้า และจะมีการจ้างเจ้าหน้าที่ ประจำ เพื่อทำหน้าที่ประสานงานด้านการจดทะเบียน

"เมื่อเร็วๆ นี้ ได้มีการเชิญบริษัทผู้ให้บริการอินเตอร์เนตหรือไอเอสพี มาประชุมเพื่อขอความช่วยเหลือเรื่อง เงินสนับสนุนการปฏิบัติงานของไทยนิกแล้ว ขณะนี้ กำลังรอการช่วยเหลือจากไอเอสพีอยู่ หากไม่ได้รับความ ช่วยเหลือ ในอนาคตอาจจะต้องใช้วิธีแบบประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเก็บค่าจดทะเบียนประมาณชื่อละ 6,300 บาท แล้วเอาเงินที่เหลือจากการดำเนินงานไปสนับสนุนการวิจัยเกี่ยวกับอินเตอร์เนต"

ต่อปัญหาว่า บริษัทหรือหน่วยงานในประเทศไทย มักชอบไปจดทะเบียนเป็นโดเมนเนมระดับโลก กับหน่วยงาน "อินเตอร์นิก" ในสหรัฐอเมริกา ดร.กาญจนา มีความเห็นว่า อาจส่งผลกระทบในด้านความเชื่อมั่นของนักลงทุน ที่อาจตรวจสอบดูความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจของเมืองไทย จากจำนวนโดเมนเนมที่ลงท้ายด้วย ".th" หากไป ใช้ชื่อสากลเป็น .com ก็จะทำให้ไม่ทราบว่าเว็บไซต์นั้น มาจากประเทศไหน

"อยากฝากไปยังไอเอสพีต่างๆ ให้ช่วยออกไปเปิดสาขาในต่างจังหวัดให้มากๆ เพื่อที่คนไทยในต่างจังหวัด จะได้มีโอกาสเข้าถึงเครือข่ายอินเตอร์เนตได้ในอัตราเดียวกับคนใน กทม. ซึ่งจะช่วยให้การพัฒนาประเทศไป ได้อย่างสะดวกรวดเร็วขึ้น"

ช่วงเวลา 10 ปีที่ผ่านมาอินเตอร์เนตในประเทศไทยขยายตัวรวดเร็วมาก วันนี้ ... เราได้รู้จัก THNIC ดีขึ้น ในฐานะองค์กรผู้ดูแลและให้บริการจดทะเบียนโดเมนเนมให้แก่หน่วยงานสัญชาติไทย บริหารโดยกลุ่มผู้บุกเบิก การใช้เทคโนโลยีอินเตอร์เนตในประเทศไทย

เหลือเพียงว่า ไอเอสพีทั้งหลายจะรู้สึกถึงประโยชน์ที่ได้รับจากไทยนิก และยอมลงมาให้ความช่วยเหลือไทยนิก อย่างจริงใจ มากน้อยเพียงใด...

ข่าวและกิจกรรม


ให้ธุรกิจคุณได้มากกว่า